ปอยส่างลอง

ในยุคดิจิตอล ที่เทคโนโลยีก้าวล้ำนำหน้า ทุกคนสามารถหาข้อมูลได้ง่ายแค่คลิกปลายนิ้ว การเข้าถึงสื่อที่ไม่ดีไม่ใช่เรื่องยาก การเผยกระจายของสิ่งเสพติดเหมือนซื้อยาอมในร้านค้า มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ลูกหลานเราจะเจริญเติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมเช่นนี้

ปอยส่างลอง

ในถิ่นล้านนา แถบแม่ฮ่องสอน ในพื้นที่ของชาวไทใหญ่ ถิ่นที่คนไทยภาคกลางมองพวกเขาว่าล้าหลังยังไม่เจริญ แต่สิ่งที่พวกเขารักษาไว้ ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่สืบต่อไปยังอนุชนรุ่นหลัง เช่น งานประเพณี ปอยส่างลอง หรือ บวชลูกแก้ว ที่ยังคงความงดงาม เป็นเอกลักษณ์สืบมาจนถึงวันนี้ ซึ่งปรกติจัดขึ้นในฤดูร้อน ช่วงปลายมีนาคม - เมษายนของทุกปี

ปอยส่างลอง

ชาวไทใหญ่มีความเชื่อว่า การบวชปายส่างลองนั้น มีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่กว่าการบวชพระ เพราะเด็กนั้นมีจิตใจที่บริสุทธิ์ (ซึ่งขอย้ำว่านี้คือความเชื่อของชาวไทใหญ่)

ปอยส่างลอง

ดังนั้น พ่อแม่ ญาติพี่น้องหรือพ่อข่าม แม่ข่าม (เจ้าภาพงานบวช) จึงยอมร่วมกันทำบุญจัดงานบวชเพื่อให้ลูกหลานได้เรียนรู้พระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา

ปอยส่างลอง

แม้ชาวไทใหญ่ ซึ่งถือว่าอยู่ห่างไกลความเจริญ แต่พวกเขากลับรู้จักสร้างวัคซีนกันบาปที่จะเกิดขึ้นให้กับเยาวชนลูกหลานของเขา แล้วคนไทยกลาง ไทยอีสาน และไทยอีกหลายๆ ไทย เราคิดอย่างไร เราจะปล่อยให้เด็กในความดูแลของเรา โตขึ้นได้เรียนรู้โดยปราศจากเกราะป้องกันตนเอง ปล่อยไปตามยถากรรม ให้เด็กศึกษาเองในสังคมพิกลพิการในตอนนี้หรือ?

https://www.facebook.com/ThailandFestival/photos/pcb.2296554400601958/2296553227268742/?type=3&theater

เคยได้ฟังเทศน์จากพระอาจารย์รูปหนึ่งว่า มีคนถามท่านว่า ระหว่างคนที่รู้ว่าทำแล้วผิดกับคนที่ไม่รู้ว่าทำแล้วผิด อย่างไรได้รับผลกรรมมากกว่ากัน ท่านตอบว่า คนที่รู้แล้วทำชั่ว ได้ผลกรรมน้อยกว่าคนที่ไม่รู้แล้วทำชั่ว อุปมาเหมือนมีก้อนถ่านแดงร้อน คนที่รู้ว่านี้คือถ่านเมื่อจะถือแล้วก็ยังยั้งๆ ไม่กล้าถือเต็มมือเพราะรู้ว่าสิ่งนี้อันตราย แต่สำหรับคนไม่รู้ว่านี้คือถ่าน เมื่อจะถือก็จับเข้าเต็มที่จับด้วยความตั้งใจเต็มใจไม่ระวัง ถ่านนั้นย่อมทำร้ายมืออย่างเต็มที่เช่นกัน ฉันใดฉันนั้นคนที่ได้รู้หลักธรรมะ แม้เมื่อจะไปทำผิดทำชั่วก็ย่อมรู้ว่าสิ่งที่จะทำนั้นควรทำหรือไม่ควรทำ มีหิริโอตตัปปะเกิดขึ้นในใจ

ดังนั้น นี้คือโอกาสที่ดีของพวกเราชาวพุทธ ที่ได้เกิดมาในแผ่นดินที่พระพุทธศาสนายังรุ่งเรืองอยู่ อย่าปล่อยเวลาของเยาวชนตัวน้อยของเรา ให้เสียไปเปล่าๆ พาลูกพาหลานเข้ามาบวชสามเณร มาสร้างเกราะ ฉีดวัคซีน เพื่อให้เขาเหล่านั้นเมื่อกลับไปสู่ครอบครัว จะได้ดวงตาดวงใจที่ฝักใฝ่แต่สิ่งดี ๆ ไม่หวนหาหรือเข้าไปยุ่งกับสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ที่มีกลาดเกลื่อนในสังคมนี้ ได้เป็น ลูกแก้ว เป็นเด็กดี สมดังความตั้งใจของพ่อและแม่

บวชสามเณร

บวชสามเณร

บวชสามเณร

โครงการบรรพชาสามเณร
ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทย พ.ศ. 2562
31 มีนาคม - 30 เมษายน พ.ศ. 2562
สมัครและสอบถามรายละเอียด
ได้ที่ศูนย์ส่งเสริมศีลธรรมทั่วประเทศ โทร.02-831-1234
บวชฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย

ทำไมการบวชถึงตอบแทนบุญคุณบิดามารดาได้ เพราะการบวชคือทางลัด เมื่อผู้บวชตั้งใจบวช ฝึกฝนตนเองตามคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา ตามหลักธรรมวินัย บุญย่อมส่งผลท่านทั้งที่มีชีวิตอยู่หรือแม้ละโลกไปแล้วก็ตาม อานิสงส์ของการบวชนี้ มิเพียงแต่ส่งผลถึงบุพการีในชาตินี้เท่านั้น ยังส่งผลถึงพ่อแม่ในภพชาติก่อนอีกด้วย

บวชสามเณร

เรื่องมีอยู่ว่า
ครั้งหนึ่ง พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตะวัน ทรงปรารภสามเณรชื่อสานุ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อิทํ ปุเร เป็นต้น

สามเณรสานุเป็นบุตรคนเดียวของอุบาสิกาคนหนึ่ง นางให้ลูกบวชแต่อายุยังน้อย เมื่อบวชแล้วก็เป็นผู้มีศีลดี มีวัตรงาม ไม่บกพร่องในอุปัชฌายวัตร อาจาริยวัตร และอาคันตุกวัตร เป็นต้น ในวันธรรมสวนะ 8 วันต่อเดือน สามเณรลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ตั้งน้ำไว้ในโรงน้ำ ปัดกวาดโรงธรรม ตามประทีป และประกาศวันธรรมสวนะด้วย เสียงอันไพเราะ

ภิกษุทั้งหลาย ทราบความสามารถของเธอแล้ว ให้เธอแสดงธรรมใน บางโอกาส เธอไม่ได้อิดเอื้อน หรือแก้ตัวว่าปวดท้องปวดหัว หรือเจ็บคอ แต่ประการไรเลย

เธอขึ้นสู่ธรรมาสน์แสดงธรรม ประหนึ่งหลั่งน้ำลงจากอากาศ เมื่อจะลงจากธรรมาสน์ได้กล่าวทุกครั้งว่า ข้าพเจ้าให้ส่วนบุญแก่มารดา สามเณรหมายถึงมารดาในอดีตชาติ ซึ่งในเวลานั้น ยักษิณี (คือยักษ์ผู้หญิง) ตนหนึ่งซึ่งเคยเป็นมารดาในอดีตชาติของสามเณรมาฟังธรรมเทศนาของสามเณรอยู่เป็นประจำ

นางมากับเทวดาทั้งหลาย เพื่อฟังธรรมของสามเณร และได้อนุโมทนาบุญที่สามเณรแผ่อุทิศให้

พวกเทวดาที่มาฟัง มีความเคารพในสามเณร ทำให้ยักษิณีพลอยได้รับความเคารพไปด้วย ในสมัยที่มีการฟังธรรม และสมัยที่ยักษ์ประชุมกัน พวกเขาย่อมให้อาสนะที่ดี น้ำที่ดี และอาหารที่ดีแก่ ยักษิณีด้วยศักดิ์ว่า "นางเป็นมารดา ของสามเณร" ตลอดถึงผู้มีศักดิ์ใหญ่ เมื่อเจอนางยักษิณีก็หลีกทางให้ หรือลุกจากอาสนะเป็นการต้อนรับและให้เกียรติ

ต่อมาเมื่อสามเณรโตเป็นหนุ่มขึ้น มีความปรารถนาจะสึกไปครองฆราวาส ไม่อาจบรรเทาความปรารถนานี้ได้ เกิดความเบื่อหน่ายในการบวช ไม่ยินดีในการปฏิบัติธรรม ปล่อยผม และเล็บให้ยาว สบงและจีวรมอมแมม ไม่แจ้งให้ใครทราบ ถือบาตรและจีวร ไปยังเรือนของมารดาเพียงลำพังคนเดียว

มารดาต้อนรับเธอด้วยใจปีติ และโสมนัส และถามว่า "ครั้งก่อน ๆ ที่เคยมา สามเณรเคยมาพร้อมกับอาจารย์ และอุปัชฌายะ หรือมิฉะนั้น ก็มาพร้อมกับภิกษุหนุ่ม หรือสามเณรอื่น ไฉนวันนี้จึงมาคนเดียว ?"

สามเณรบอกความที่ตนปรารถนาจะสึก มารดาของเธอเป็นผู้มีศรัทธาในศาสนาไม่ปรารถนาให้สามเณรสึก จึงแสดงโทษแห่งความเป็นฆราวาสนานาประการ แต่ก็หาหยุดยั้งความคิดที่จะสึกของลูกชายไม่ได้ นางคิดว่าสามเณรเป็นผู้ฉลาด วันหนึ่งคงจะคิดได้เอง จึงกล่าวว่า "ขอให้สามเณรนั่งอยู่ก่อน จะจัดอาหารถวาย เมื่อฉันเสร็จแล้วจะนำผ้าสำหรับคฤหัสถ์มาให้"

ในขณะที่มารดาของสามเณรกำลังนั่งซาวข้าวอยู่นั้นเอง นางยักษิณีผู้เคยเป็นมารดาของสามเณรในชาติก่อน ได้เกิดความคิดถึงสามเณร ครั้นเล็งแลไปด้วยกำลังฤทธิ์ จึงรู้ว่าสามเณรสานุอยากลาสิกขา นางกลุ้มจนอยู่ไม่ติด เพราะหากสามเณรสึกออกไปคงจะอายพวกเทวดา ไม่กล้าเข้าสมาคมอีก

จึงรีบบึ่งไปขัดขวางไม่ยอมให้สึก แล้วเข้าสิงร่างสามเณรทันที สามเณรล้มทั้งยืน จากนั้นก็ตาเหลือกน้ำลายฟูมปากดิ้นไปดิ้นมาอยู่บนพื้นดินนั้นเอง

นางอุบาสิกาเห็นอาการของลูก นั้นจึงซ้อนให้นอนบนตัก ชาวบ้านพากันมารุมล้อมบวงสรวงทำพลีกรรม เป็นต้น เพื่อให้สามเณรพ้นจากอันตราย

แม่พูดคร่ำครวญต่อไปว่า "ยักษ์ทั้งหลาย ย่อมไม่เล่นด้วย (เข้าสิง) กับคนที่รักษาอุโบสถศีล ทุกวัน 8 ค่ำ 14 และ 15 ค่ำ รักษาศีล 8 ศีลอุโบสถ ประพฤติพรหมจรรย์ ยักษ์ทั้งหลายย่อมไม่ตอแยกับคนเหล่านี้ ข้าพเจ้าได้สดับคำของพระอรหันต์ทั้งหลายมาอย่างนี้ แต่มาวันนี้ ข้าพเจ้าเห็นประจักษ์ด้วยตนเองว่า ยักษ์เล่น (เข้าสิง) กับสานุสามเณร"

นางยักษิณีได้ตอบกลับว่า "ใช่แล้ว ยักษ์จะไม่มารังแกผู้รักษาศีล ประพฤติพรหมจรรย์ หากสามเณรรู้สึกตัวเมื่อไร ขอฝากถ้อยคำนี้จากใจยักษ์ทั้งหลายว่า ขอเณรอย่าได้ทำบาปในที่ลับหรือที่แจ้ง และอย่าคิดสึกเด็ดขาด หากคิดจะทำหรือกำลังทำก็ตาม แม้นเหาะได้ดังนกก็มิอาจหนีพ้นจากทุกข์ได้เลย"

เมื่อกล่าวจบก็ออกจากร่างสามเณรไป


พอสามเณรสานุรู้สึกตัว ไม่ทราบว่าตนถูกยักษ์สิง จึงถามมารดาว่า เกิดเหตุอะไรขึ้น ตนจึงมานอนอยู่กับพื้นดิน และถามว่า "โยม คนทั้งหลายร้องไห้ถึงคนที่ตายไปแล้วบ้าง ยังมีชีวิตอยู่แต่จากไปบ้าง โยมเห็นฉันอยู่ เหตุไรจึงร้องไห้ ?"


มารดาของสามเณรต้องการจะแสดงโทษของการอยู่ครองแก่เธอ จึงกล่าวว่า "จริงอยู่ คนทั้งหลายย่อมร้องไห้ถึงคนที่ตายไปแล้ว หรือยังมีชีวิตอยู่ แต่จากไป  ก็ผู้ใดละกามทั้งหลายได้แล้ว ยังจะเวียนมาในกามนี้อีก ชนทั้งหลายย่อมร้องให้ถึงผู้นั้นบ้าง เพราะเขาแม้เป็นอยู่ก็เหมือนตายแล้ว

พ่อเณรถูกยกขึ้นจากเถ้ารึงแล้ว ยังปรารถนาจะลงไปสู่เถ้ารึงอีก ถูกยกขึ้นจากเหวแล้ว ยังปรารถนาจะตกลงไปยังเหวอีก พ่อเณรเป็นเหมือนของที่ถูกนำออกจากเรือนที่ไฟไหม้แล้ว ยังปรารถนาจะมาอยู่ในเรือน เช่นนั้นอีก โยมจะปรับทุกข์กับใครเล่า ก็การบวชในพระพุทธศาสนานั่น เป็นประหนึ่งของที่ถูกนำออกจากเรือนที่ถูกไฟไหม้แล้ว"

เมื่อมารดากล่าวอยู่อย่างนี้ สามเณรให้ได้คิด และสลดสังเวช บอกมารดาว่า จะไม่สึกแล้ว มารดาก็อนุโมทนา และเมื่อได้ทราบว่า สามเณรลูกชายมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงได้จัดแจงไตรจีวร เพื่อการอุปสมบทของสามเณร

ต่อมาเมื่อเธอบวช แล้วไม่นาน พระศาสดามีพระประสงค์ จะให้พระสานุ อุตสาหะ ในการข่มจิต

จึงตรัสว่า "ธรรมดาจิตเที่ยวไปในอารมณ์ต่าง ๆ ตลอดกาล ความสวัสดีย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่สามารถข่มจิตลงได้ เพราะฉะนั้น บุคคลจึงควรทำความเพียรในการข่มจิต เหมือนนายหัตถาจารย์ ในการพยายามข่มช้างตกมัน ฉะนั้น"

ดังนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาว่า

อิทํ ปุเร จิตฺตมจาริ จาริกํ
เยนิจฺฉกํ ยตฺถกามํ ยถาสุขํ
ตทชฺชหํ นิคฺคหิสฺสามิ โยนิโส
หตฺถึ ปภินฺนํ วิย องฺกุสคฺคโห.


แปลว่า เมื่อก่อนนี้ จิตนี้ได้เทียวจาริกไป ตามอาการที่ปรารถนา ตามอารมณ์ที่ใคร่ตามสบาย วันนี้เราจักข่มมัน ด้วยโยนิโสมนสิการ ประหนึ่ง บุรุษผู้กุมขอข่มช้างที่ซับมัน ฉะนั้น

บวชสามเณร

พระภิกษุสานุได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดาทำให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านได้เป็นกำลังสำคัญยิ่งของกองทัพธรรม เป็นพระธรรมกถึกผู้เชี่ยวชาญเทศนาธรรม มีชื่อเสียงเลื่องลือกระฉ่อน ตราบจนกระทั่งนิพพานเมื่ออายุได้ 120 ปี

จึงเห็นได้ว่า การบวชนั้น แม้แค่เป็นสามเณรแต่หากตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ในธรรมวินัย แม้ยังไม่บรรลุอะไรเลย ก็ยังได้รับการยกย่องจากทั้งมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย แม้หมู่ญาติของเราที่ล่วงลับไปแล้วก็ยังได้อานิสงส์ผลบุญอันไม่มีประมาณ

ที่สุดความความปรารถนาของพ่อแม่คือเห็นลูกได้ดี เจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน แต่สิ่งที่พ่อแม่จะปลื้มมากคือ คนอื่นมาชมว่า ลูกของท่านเป็นคนดี เป็นเด็กดี

การได้บวชแม้แค่สามเณร แต่หากได้ฝึกฝนอบรมตนเอง เมื่อสึกออกมาแล้วก็ยังมีหลักธรรมไว้คุ้มครองชีวิตสืบต่อไปได้

ชีวิตใดที่จะประเสริฐยิ่งไปกว่าชีวิตสมณะ ในช่วงปิดเทอมนี้มาเติมความบริสุทธิ์ให้กับตนเอง และเติมเต็มที่สุดแห่งความปรารถนาของบิดามารดาผู้มีพระคุณที่ให้กายเนื้อเรามา เอาบุญบวชนี้ตอบแทนท่านไปสู่สวรรค์ มาบวชตั้งแต่ยังเยาว์ มาแก้ความเขลา ทำให้เราเป็นลูกแก้ว เป็นสามเณรแก้ว ทดแทนบุญท่านในช่วงนี้กันครับ
 
"บวชฟรี ตั้งใจดี ได้บุญเยอะ"

 โครงการบรรพชาสามเณรฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทย


 
ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

- https://is.gd/H9zUjK เข้าถึงเมื่อ 6/3/2562

- http://www.kalyanamitra.org/th/uniboon_detail.php?page=https://is.gd/H9zUjK เข้าถึงเมื่อ 6/3/2562

- http://dhammapadasstories.blogspot.com/2015/01/05_79.html เข้าถึงเมื่อ 6/3/2562







นั่งสมาธิ

วันนี้อยากเอาเรื่องเบาๆ ตามความเข้าใจของตัวเองมาแชร์ให้อ่านบ้าง เรื่องที่อยากมาเขียนวันนี้คือ พระพุทธศาสนาสอนอะไรแก่เรา ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า 
พระพุทธศาสนามุ่งเน้นคำสอนให้มนุษย์ทุกคนละจากชั่ว ทำความดีทำใจให้ผ่องใส

แล้วความชั่วคืออะไร ความชั่วก็คือกิเลส3ตระกูล ที่แอบแฝงอยู่ในจิตใจของเรา ได้แก่

  1. ความโลภ
  2. ความโกรธ
  3. ความหลง
ความโลภ อยากจะได้ของๆผู้อื่นที่ไม่ใช่ของๆตน ใช้อุบายเล่ห์เหลี่ยมกลโกงสารพัดให้ได้สิ่งนั้นมาโดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ร้อนของผู้ที่เป็นเจ้าของ  จะเห็นได้จากข่าวที่ทุกวันนี้ทวีความรุนแรงขึ้นถึงขั้นทำร้ายฆ่ากันให้ตาย

ความโกรธ ผูกพยาบาทอาฆาต อิจฉาริษยา ไม่มีเมตตา ไม่มีการให้อภัย มุ่งแต่จะจองล้างจองผลาญกัน  จนหาความสงบสุขไม่ได้

ความหลง หรือความไม่รู้ไม่รู้ว่าคนเราเกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน

เพราะถ้ารู้เหมือนดังเช่นพระอรหันต์ทั้งหลายจะไม่มีใครกล้าทำความชั่วเลยแม้แต่ผู้เดียว แต่เพราะไม่รู้และไม่ยอมเปิดโอกาสศึกษาหาความรู้ที่แท้จริงจากคำสอนในพระพุทธศาสนา  มนุษย์จึงหลงเพลิดเพลินกับการประกอบกรรมชั่วและไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม กฎแห่งไตรลักษณ์

อะไรคือสิ่งที่จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวไม่ให้เราพลั้งเผลอไปกระทำความชั่วทั้งทางกาย วาจา ใจ

ในทางพระพุทธศาสนาบอกวิธีการเอาไว้อย่างชัดเจน  

จะชนะความโลภต้องลงมือทำทาน คือการสละออกจากใจ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง  สิ่งของเพื่อกำจัดความตระหนี่  รู้จักการให้ การแบ่งปัน  ที่สำคัญและทำได้ยากคืออภัยทาน แต่ถ้าทำได้คือการชนะใจตัวเอง ซึ่งเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ 

ความโกรธ เอาชนะได้ด้วยการรักษาศีล เพราะศีลจะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจไม่ให้เราไปกระทำล่วงเกินต่อผู้อื่น เมื่อเรารักษาศีลเท่ากับเรารักษาชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย เพราะใคร ก็ไม่อยากให้ใครมาทำร้าย ทำลาย ชีวิตของเรา แย่งชิงทรัพย์  ของรักของเราโกหกหลอกลวงขาดความจริงใจ หน้าไหว้หลังหลอก และถ้าเรามีสติเราก็จะสามารถสอนตัวเองได้ คนที่ขาดสติย่อมสามารถทำผิดศีลได้ทุกข้อพร้อมก่อความเดือดร้อนให้กับสังคม

สำคัญที่สุดคือการกำจัดความหลงด้วยการฝึกสมาธิ  เพราะสมาธิเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา  ช่วยทำให้เราควบคุมตนเอง และยังทำให้เรามองเห็นข้อผิดพลาดบกพร่องของตนเอง  มีความสุขในการแก้ไขสิ่งเหล่านั้น รู้จักพิจารณาไตร่ตรองในเหตุการณ์ต่าง ตรงตามความเป็นจริง สมาธิจึงเป็นเรื่องที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจแม้มิใช่พุทธศาสนิกชนก็ตาม เมื่อเราได้ฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องใจของเราย่อมได้รับการกลั่นแก้จนเกิดความเลื่อมใส  ความใสของใจเปรียบเหมือนกระจกเงาส่องหน้า  กระจกยิ่งใสเท่าใดย่อมมองเห็นใบหน้าได้ชัดเจน ใจที่ผ่องใสย่อมทำให้ความคิด  คำพูดและการกระทำของเราออกมาจากแหล่งที่บริสุทธิ์ที่อยู่ภายใน ยิ่งบริสุทธิ์มากเท่าใดบุญกุศลย่อมเกิดขึ้นกับเราเป็นดั่งเงาติดตามตัว  บุญนี้ก็จะไปตัดรอนวิบากกรรมที่เราเคยกระทำไว้ในอดีตและนำพาให้ชีวิตประสบแต่เรื่องราวดี คนดี   หน้าที่การงานที่ดี  สิ่งแวดล้อมที่ดี  ทำให้เราห่างไกลจากคนภัยคนพาล  มีโอกาสที่จะสร้างบุญสร้างบารมีให้ยิ่งๆขึ้นไป  ความสุขและความสำเร็จจึงบังเกิดขึ้นทับทวี  รู้อย่างนี้เรามาทำความดีกันดีกว่า  ง่ายๆด้วยการทำทาน รักษาศีล  และเจริญภาวนา

หลักธรรมต่าง เหล่านี้ เราอาจจะบอกว่า เราหาอ่านจาก Google หาหนังสืออ่านก็ได้ นั้นก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่อยากจะบอกและขอแนะนำว่า ถ้ามีเวลาก็มาวัดมาฟังธรรมเถอะ จะวัดไหน ก็ได้ เลือกเอาที่เราชอบ เพราะในชีวิตของเรานั้นยุ่งด้วยการทำมาหากิน การแย่งชิงทรัพยากรต่าง แต่พระท่านมีเวลาศึกษาพระไตรปิฎก ศึกษาธรรมะ ท่านได้วิเคราะห์ สังเคราะห์ ตกผลึกเป็นคำสอนง่ายๆ เหมาะแก่การปฏิบัติแล้ว ทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาในการศึกษาเอง ซึ่งนอกจากนี้เราจะได้ไปฟังธรรมแล้ว เรายังได้โอกาสไปทำทาน ไปอาราธนาศีลอีก แล้วค่อยมาแบ่งปันกันต่อนะ


มะขามป้อม ศรวารี



ก่อนถึงวันวิสาขบูชา ก่อนที่พระบรมพระโพธิสัตว์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหญิงคนหนึ่งชื่อนางสุชาดา ได้น้อมข้าวมธุปายาสถวายแด่พระองค์ เรามาดูกันว่าข้าวมธุปายาสมีความเป็นมาอย่างไร



มะม่วงมหาชนก

         หน้าร้อนนี้นึกถึงอะไรกันบ้าง? หลายคนคงนึกถึง ภูเขา น้ำตกทะเล กินลมชมวิว แต่ถ้าเรื่องของกินต้องนึก ข้าวเหนียวมะม่วง ข้าวเหนียวมูนนุ่มๆ ความหวานของมะม่วง ตัดด้วยความเค็มของกะทิ  อร่อยอย่าบอกใครเลยค่ะ

 แหล่งที่มาของภาพ : เว็บhello2day

เดี๋ยวกินข้าวเหนียวมะม่วงกันแล้ว จะพาไปรู้จักเรื่องราวอันน่าสนใจ และน่าติดตามของพระมหาชนก...

 แหล่งที่มาของภาพ : เว็บไทยรัฐ


ทศชาติชาดก

 เรื่องมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 14

 แหล่งที่มาของภาพ : ทศชาติชาดก เรื่องพระมหาชนก
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อคนเฝ้าอุทยานได้นำผลไม้น้อยใหญ่ต่างๆ ที่มีโอชารส และดอกไม้นานาพรรณมาถวาย พระมหาชนกทอดพระเนตรแล้ว ก็ทรงชื่นชมนายอุทยาน และทรงปรารภว่า อยากจะเสด็จประพาสอุทยาน เพื่อทรงเยี่ยมชมผลไม้และดอกไม้ที่นายอุทยานได้เพาะปลูกไว้
นายอุทยานได้สดับแล้ว ก็รู้สึกหัวใจพองโต ดีใจว่า “โอ พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จไปเยี่ยมชมสวนผลไม้และดอกไม้ของเราแล้ว” จึงรีบกลับไปตกแต่งราชอุทยานให้เป็นประดุจอุทยานสวรรค์
เมื่อถึงเวลา พระมหาชนกก็ทรงประทับบนมงคลหัตถี ได้เสด็จออกจากพระนครพร้อมด้วยข้าราชบริพารเป็นจำนวนมาก
 แหล่งที่มาของภาพ : ทศชาติชาดก เรื่องพระมหาชนก
เนื่องจากที่ใกล้ประตูพระราชอุทยานนั้น มีต้นมะม่วงสองต้นมีใบเขียวชอุ่ม ต้นหนึ่งไม่มีผล ต้นหนึ่งมีผลดกมีกลิ่นหอมรสหวานเป็นที่รู้จักของทุกคน แต่ยังไม่มีใครกล้าปลิดหรือสอยลงมากิน เพราะต้องรอให้พระราชาได้เสวยเสียก่อน จึงจะมีโอกาสได้ลิ้มรส
พระราชาประทับบนช้างทรงตามลำพัง ทรงเก็บเอามะม่วงผลหนึ่งมาเสวย พอสัมผัสปลายพระชิวหาของพระองค์ ก็เป็นประดุจโอชาทิพย์ จึงดำริที่จะกลับมาเก็บเสวยอีก แต่ก็จำต้องเสด็จเข้าสู่พระราชอุทยานเสียก่อน

 แหล่งที่มาของภาพ : ทศชาติชาดก เรื่องพระมหาชนก
คนอื่นๆ มีมหาอุปราชเป็นต้น จนถึงคนดูแลช้าง ดูแลม้า รู้ว่าพระราชาเสวยผลมีรสเลิศแล้ว ก็เก็บเอาผลมะม่วงมากินกันอย่างเอร็ดอร่อย
ฝ่ายราชบริวารที่ตามมาภายหลัง ก็พากันสอยมะม่วงนั้นตามความพอใจ กระทั่งได้ปีนขึ้นไปบนต้นหักรานกิ่งเพื่อเก็บเอาผลมะม่วง ทำต้นมะม่วงนั้นเสียหาย
แต่มะม่วงอีกต้นหนึ่งซึ่งไม่มีผล กลับยืนต้นตระหง่านดูงดงามอยู่เหมือนเดิม

 แหล่งที่มาของภาพ : ทศชาติชาดก เรื่องพระมหาชนก
เมื่อพระราชาเสด็จชมราชอุทยานจนพอพระหฤทัยแล้ว ก็เสด็จกลับออกมา เพื่อจะเสวยผลมะม่วงต้นเดิมอีก ครั้นทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงถูกหักกิ่งรานใบย่อยยับลงเช่นนั้น จึงเกิดความฉงนพระหฤทัย ตรัสถามเหล่าอำมาตย์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด
ครั้นได้สดับเหตุที่ชัดเจนแล้ว ก็ไม่ได้พิโรธหรือรับสั่งหาคนที่ทำลายต้นมะม่วงเพื่อลงโทษแต่อย่างใด กลับเกิดความสลดสังเวชว่า “มะม่วงอีกต้นยังคงความสดเขียวเหมือนเดิม ไม่มีใครมารุกราน เพราะไม่มีผล แต่ต้นนี้ถูกหักกิ่งรานใบ เพราะอาศัยผลเป็นเหตุ แม้ราชสมบัตินี้ก็เช่นกับต้นไม้มีผล ส่วนบรรพชาเป็นเช่นกับต้นไม้ที่ไร้ผล ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของใคร ภัยย่อมมีแก่ผู้มีความกังวล แต่ไม่มีแก่ผู้ไม่มีความกังวล ตัวเรานี่แหละ จะเป็นเหมือนต้นไม้ที่ไร้ผล เราจักสละราชสมบัติออกบวช”
ครั้นทรงพิจารณาธรรมเห็นความแตกต่างกันระหว่างต้นมะม่วงที่มีผลดก และต้นมะม่วงที่ไม่มีผลแล้ว ก็ทรงอธิษฐานจิตมั่นในอันที่จะทรงออกผนวช ได้เสด็จกลับเข้าสู่พระนคร


      เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ธรรมดาของผู้มีบุญมาก เมื่อเห็นความเป็นไปของต้นมะม่วงแล้วก็สามารถสอนตัวเองได้ว่า การเป็นพระราชามีสมบัติมากมายนั้นเป็นภาระเปรียบดังต้นมะม่วงที่มีผลมาก แต่การออกจากเรือนเป็นนักบวช ไม่ต้องครอบครองทรัพย์สินอันใด ดังเช่นมะม่วงที่ไร้ผล เป็นชีวิตที่มีอิสระอย่างแท้จริงและยังเป็นหนทางไปสู่การหลุดพ้น มีอิสรภาพที่แท้จริง นั่นคือการบรรลุมรรคผลนิพพานได้อีกด้วย